top of page

ไมโครซอฟท์ (หุ้นแนสแด็ก: MSFT) บริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายประมาณ 4 แสนล้านบาท และพนักงานประมาณ 57,000 คน ใน 90 ประเทศทั่วโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ เมืองเรดมอนด์ (ห่างจากเมืองซีแอตเทิล ประมาณ 22 กม.) มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไมโครซอฟท์ผลิต พัฒนาซอฟต์แวร์เป็นหลัก โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ขายดีติดอันดับคือระบบปฏิบัติการชื่อไมโครซอฟท์ วินโดวส์ และซอฟต์แวร์สำหรับสำนักงานชื่อไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ นอกจากนั้นแล้วไมโครซอฟท์ยังได้ขยายสายผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดอื่นๆ เช่น สถานีโทรทัศน์ MSNBC เว็บไซต์ MSN และรวมถึงสารานุกรมไมโครซอฟท์ เอ็นคาร์ตา. ไมโครซอฟท์ยังได้ทำตลาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น ไมโครซอฟท์ เมาส์ ไมโครซอฟท์ คีย์บอร์ด ไมโครซอฟท์ ฮารด์แวร์ ไมโครซอฟท์ LifeCam รวมถึงเครื่องเล่นต่างๆเช่น เครื่องเล่นวีดีโอเกม Xbox MSN TV และ Zune เป็นต้น.

History of Microsoft

ในปี ค.ศ. 1975 บิลล์ เกตส์ กับ พอล อัลเลน ได้ร่วมกับก่อตั้ง ไมโครซอฟท์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น และได้นำเอาภาษาเบสิกที่พัฒนาขึ้นเองออกวางตลาด และให้ชื่อว่าไมโครซอฟท์เบสิก ภาษาคอมพิวเตอร์นี้ได้กลายมาเป็นรากฐานให้แก่ธุรกิจลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งถูกผนวก (มักจะมาในรูปแบบของรอม) เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้าน และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลส่วนใหญ่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 70 และ 80

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 บิลล์ เกตส์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นิยมงานอดิเรก ซึ่งสร้างความโกรธเคืองแก่ผู้นิยมเล่นคอมพิวเตอร์เป็นงานอดิเรกเป็นอย่างมาก โดยเขาได้ประกาศว่า ธุรกิจคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์มีตัวตนอยู่ในตลาดการค้า และยังบอกด้วยว่า ไม่ควรทำสำเนาซอฟต์แวร์แจกจ่ายกันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ ซึ่งเขาได้กล่าวหาการกระทำนี้ว่าเทียบเท่ากับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ขณะที่เขาพูดถูกในแง่ของกฎหมาย ข้อเสนอดังกล่าวของเกตส์นับว่าไม่เคยมีมาก่อนในวงการคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับอิทธิพลจากมรดกตกทอดของวงการแฮม เรดิโอ และวงการแฮกเกอร์ อันเป็นชุมชนซึ่งมีการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและความรู้กันอย่างเสรี อย่างไรก็ดี เกตส์พูดถูกในแง่ของการตลาด และความพยายามของเขาก็ได้รับผลตอบแทนในที่สุด ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชันได้กลายเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางการค้ามากที่สุดในโลก และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สำหรับขายปลีก

ช่วงเวลาสำคัญของไมโครซอฟท์ ได้แก่เมื่อบริษัทไอบีเอ็มได้วางแผนจะรุกตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ด้วยการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไอบีเอ็มออกวางตลาด ใน ค.ศ. 1985 ไอบีเอ็มได้เข้ามาเจรจากับไมโครซอฟท์เพื่อขอซื้อระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (ไอบีเอ็มได้ทำสัญญาภาษาคอมพิวเตอร์ไปแล้ว) แต่ไมโครซอฟท์ไม่มีระบบปฏิบัติการจะขายให้ จึงแนะนำให้ไอบีเอ็มไปคุยกับดิจิทัลรีเสิร์ชแทน ที่ดิจิทัลรีเสิร์ช ผู้แทนของไอบีเอ็มได้คุยกับโดโรธี ภรรยาของ แกรี คิลดาลล์ แต่เธอปฏิเสธการลงนามในข้อตกลงมาตรฐานซึ่งไม่ปิดผนึก เนื่องจากเห็นว่าเสียเปรียบเกินไป ไอบีเอ็มจึงหันมาคุยกับไมโครซอฟท์อีกครั้ง บิล เกตส์ได้สิทธิ์ในการใช้สำเนาการออกแบบของ CP/M และ QDOS จาก ทิม แพทเทอร์สัน แห่งบริษัท ซีแอตเทิล คอมพิวเตอร์ โปรดักส์ ด้วยการซื้อมาในราคา 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และขายมันให้กับไอบีเอ็มในราคา "ราว 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ" ตามคำกล่าวอ้างของเกตส์ และในที่สุด MS-DOS และ PC-DOS ก็ได้แจ้งเกิดในวงการ ต่อมา ไอบีเอ็มได้ค้นพบว่าระบบปฏิบัติการของเกตส์อาจมีปัญหาละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของ CP/M จึงได้ติดต่อกลับไปที่แกรี คิลดาลล์ และเพื่อแลกกับสัญญาว่าจะไม่ถูกคิลดาลล์ฟ้องกลับ ไอบีเอ็มได้ตกลงว่าจะขาย CP/M ควบคู่ไปกับ PC-DOS เมื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไอบีเอ็มออกวางตลาด โดยตั้งราคาขาย CP/M ไว้ที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ MS-DOS/PC-DOS มีราคาเพียง 40 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ MS-DOS/PC-DOS ขายดีกว่า CP/M หลายเท่า และกลายเป็นมาตรฐานในที่สุด ข้อตกลงเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างไมโครซอฟท์กับไอบีเอ็มเอง ไม่ได้สร้างรายได้มากมายเท่าไรนัก (ในสัญญาไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องขายให้แก่ไอบีเอ็มเจ้าเดียว) แต่ในทางกลับกัน ไมโครซอฟท์มีสิทธิ์ในการขาย MS-DOS ให้กับผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ และด้วยการโหมรุกทางการตลาดอย่างหนัก เพื่อขาย MS-DOS ให้ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์มีวิสัยทัศน์ในวงการอุตสาหกรรมไมโครคอมพิวเตอร์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้จะต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในวงการอย่างไอบีเอ็มก็ตาม

ในกลางคริสต์ทศวรรษที่ 80 เกตส์รู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้ทราบว่าเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลของคอมแพคดิสก์นั้นมีมาก และได้เป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า CD-ROM: The New Papyrus (ซีดีรอม: ปาปิรุสสมัยใหม่) ที่โฆษณาแนวความคิดของซีดีรอม

ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 80 ไมโครซอฟท์กับไอบีเอ็ม ได้ร่วมกันพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ก้าวหน้ากว่าเดิม มีชื่อว่า OS/2 (โอเอสทู) ระบบปฏิบัติการได้ถูกนำออกตลาดร่วมกับการออกแบบฮาร์ดแวร์ตัวใหม่ของไอบีเอ็ม ที่มีชื่อเรียกว่า PS/2 (พีเอสทู) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของไอบีเอ็ม ในขณะที่โครงการกำลังเดินหน้าอยู่นั้น เกตส์ได้มองเห็นข้อขัดแย้งระหว่างไมโครซอฟท์กับไอบีเอ็มอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่การออกแบบระบบ การสนับสนุนฮาร์ดแวร์ และส่วนประสานงานผู้ใช้ ท้ายที่สุดแล้ว เกตส์เชื่อว่าไอบีเอ็มต้องการกีดกันไมโครซอฟท์ออกจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนา OS/2 และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 เกตส์ได้ประกาศต่อพนักงานของไมโครซอฟท์ว่า ความร่วมมือกับไอบีเอ็มเพื่อพัฒนา OS/2 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อแต่นี้ไมโครซอฟท์จะหันมาทุ่มเทให้กับระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์วินโดวส์แทน โดยมีแกนกลางเป็น Windows NT. ในปีที่นำผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดนั้น OS/2 ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และวินโดวส์ได้กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นที่นิยมของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนจาก MS-DOS ไปเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ไมโครซอฟท์ได้ยึดตลาดของคู่แข่งด้วยโปรแกรมประยุกต์หลายตัว เป็นต้นว่า WordPerfect และ Lotus 1-2-3

ในอีกเกือบ ๆ หนึ่งทศวรรษต่อมา โปรแกรมอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ (Internet Explorer) ซึ่งเป็นโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ของไมโครซอฟท์ ได้มาแทนที่โปรแกรมเน็ตสเคปเนวิเกเตอร์ (Netscape Navigator) ซึ่งหลายคนอธิบายความสำเร็จดังกล่าวว่า เกิดจากการที่ไมโครซอฟท์ได้รวมเอาอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ไว้ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด. ส่วนผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งกล่าวว่า การรวมเอาอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ไว้ในระบบปฏิบัติการนั้น สำคัญน้อยกว่าการที่ไมโครซอฟท์ได้พัฒนาความสามารถของอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ จนถึงระดับที่เทียบได้กับเน็ตสเคปเนวิเกเตอร์

ในฐานะสถาปนิกซอฟต์แวร์ผู้วางยุทธวิธีการขายสินค้าของไมโครซอฟท์ บิลล์ เกตส์ได้เพิ่มความหลากหลายของประเภทสินค้าไปอย่างกว้างขวาง และเมื่อสินค้านั้น ๆ ครองตำแหน่งสินค้ายอดนิยมในบรรดาประเภทเดียวกัน เกตส์ก็จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันตำแหน่งนั้นไว้ การตัดสินใจทางยุทธวิธีของเกตส์และของผู้บริหารระดับสูงของ

ไมโครซอฟท์คนอื่น ๆ ทำให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมการแข่งขันทางการตลาดจับตามอง และในบางกรณีถูกวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่นกรณีที่ไมโครซอฟท์ถูกฟ้องร้องในข้อหาผูกขาดทางการตลาดจากการรวมเอาอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ไว้ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์เป็นต้น

ในปี ค.ศ. 2000 บิลล์ เกตส์ได้เลื่อนตำแหน่งให้ สตีฟ บาลเมอร์ เพื่อนผู้คบหากันมานาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และดำรงตำแหน่ง หัวหน้าสถาปนิกซอฟต์แวร์ แทนเขาอีกด้วย

 

 

bottom of page