top of page

      ไมโครซอฟท์ประกาศเซ็นสัญญาข้อตกลงด้านลิขสิทธิ์กับบริษัทผู้ให้บริการ เทคโนโลยีลินุกซ์อีกครั้ง คราวนี้หันมาหาบริษัทขนาดเล็กนามว่าลินสไปร์ (Linspire) ระบุสาเหตุที่เซ็นสัญญาลินุกซ์เพิ่มว่าเป็นเพราะต้องการช่วยให้ระบบปฏิบัติ การวินโดวส์ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สได้ดียิ่งขึ้น ไม่มีท่าทีเข็ดขยาดแม้ดีลแรกที่ไมโครซอฟท์ประเดิมเซ็นกับโนเวลล์ ยักษ์ใหญ่ผู้จำหน่ายลินุกส์จะถูกประนามจากวงการโอเพ่นซอร์สในวงกว้าง
       
      
 
 

 

LINUX

ไมโครซอฟท์ประกาศเซ็นสัญญาข้อตกลงด้านลิขสิทธิ์กับบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีลินุกซ์อีกครั้ง

 ลินสไปร์เป็นบริษัทในซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา สำหรับเทคโนโลยีที่อยู่ในข้อตกลงระหว่างไมโครซอฟท์และลินสไปร์ครั้งนี้คือเทคโนโลยีโปรแกรมข้อความสนทนา และเทคโนโลยีดิจิตอลมีเดีย โดยที่ผ่านมาลินสไปร์นั้นไม่ได้มีสัมพันธ์อันดีกับไมโครซอฟท์เท่าใดนัก เนื่องจากเคยมีคดีฟ้องร้องกันเรื่องลิขสิทธิ์ในชื่อ "Lindows" ซึ่งเป็นชื่อแรกของลินสไปร์เมื่อเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2001 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นลินสไปร์ในภายหลัง
       
       เควิน คาร์โมนี (Kevin Carmony) ซีอีโอลินสไปร์ให้ข้อมูลว่า ภายใต้สัญญา ลินสไปร์จะได้สิทธิ์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เทคโนโลยีวีโอไอพี (Voice over Internet Protocol) เทคโนโลยีฟอร์แม็ตไฟล์วินโดวส์มีเดีย และระบบอักษร TrueType ของไมโครซอฟท์ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ใช้ระบบปฏิบัติการของลินสไปร์สามารถพูดคุยโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตกับผู้ใช้เอ็มเอสเอ็น (Windows Live Messenger) สามารถชมไฟล์วีดีโอและฟังเพลงไฟล์นามสกุลวินโดวส์มีเดียบนโปรแกรมเล่นไฟล์โอเพ่นซอร์สได้ ขณะเดียวกันก็สามารถรับชมและสร้างเอกสารเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย
       
       ผลจากสัญญา ลินสไปร์ตกลงตั้งค่าเว็บเสิร์ชเอนจิ้นของไมโครซอฟท์เป็นค่าเริ่มต้นให้กับพีซีที่เลือกใช้ระบบปฏิบัติการของลินสไปร์ และจะมีการวิจัยร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อหาทางแปลงรูปแบบเอกสารโอเพ่นซอร์ส Open Document Format ไปเป็น OpenXML ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไมโครซอฟท์พัฒนาขึ้น
       
       ผลจากสัญญาข้างต้นมีลักษณะเดียวกับสัญญาของบริษัทแซนดรอส (Xandros) ผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการลินุกส์สำหรับคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ ที่ไมโครซอฟท์เซ็นสัญญาไปช่วงก่อนหน้านี้ แน่นอนว่าข้อตกลงนี้จะคุ้มครองลูกค้าของลินสไปร์ให้ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกไมโครซอฟท์ฟ้องร้อง ซึ่งมักถูกมองเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ให้บริการลินุกส์ยอมเซ็นสัญญากับยักษ์ใหญ่ฝ่ายตรงข้ามอย่างไมโครซอฟท์
       
       ปูมหลังของเรื่องนี้คือไมโครซอฟท์เคยออกแถลงการณ์ว่าระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์สนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์มากกว่า 200 สิทธิบัตร เพื่อปัองกันไม่ให้ไมโครซอฟท์ฟ้องร้องเรื่องการละเมิดสิทธิบัตร การเซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนสิทธิบัตรจึงเป็นการคุ้มครองลูกค้าของบริษัทที่ดีที่สุด จุดนี้ทำให้สมาคมผู้ให้บริการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเคยออกมาประนามบริษัทโนเวลล์ บริษัทผู้ให้บริการลินุกส์แรกที่ไมโครซอฟท์เซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนสิทธิบัตรด้วย ว่าเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว เพราะสัญญานี้คุ้มครองเฉพาะลูกค้าของโนเวลล์เท่านั้น และที่สำคัญคือ สัญญานี้ทำให้ไมโครซอฟท์มีสิทธิในโอเอสโนเวลล์ลินุกซ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตรต่อชุมชนซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส
       
       การแลกเปลี่ยนสิทธิบัตรกับโนเวลล์ทำให้ไมโครซอฟท์มีสิทธิในโอเอสซูซี่ลินุกซ์ของโนเวลล์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ซูซี่ลินุกซ์ (Suse Linux) ของโนเวลล์จึงต้องทำสัญญาขออนุญาตจากไมโครซอฟท์ด้วย โดยล่าสุดไมโครซอฟท์เพิ่งทำสัญญากับแอลจีอิเล็กทรอนิกส์และซัมซุงไปเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา
       
       แม้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะไม่มีการเก็บค่าลิขสิทธิ์โปรแกรม แต่โอเพ่นซอร์สก็กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในปัจจุบัน โดยหลายบริษัทสามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากการให้บริการที่ปรึกษาและบริการซัปพอร์ทอื่นๆ สำหรับลินุกซ์ เป็นระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์สที่มีการใช้งานมากที่สุด ข้อมูลจากการ์ทเนอร์ระบุว่าสัดส่วนการใช้งานลินุกซ์คือ 20 เปอร์เซ็นต์ของคอมพิวเตอร์แม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลก เทียบกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่มีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์

 

bottom of page